การบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU)

เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ได้ร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วย “การขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology)” กับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ห้องกมลมาศ ชั้น 6 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ

บันทึกข้อตกลงดังกล่าวสอดคล้องกับ แผนขับเคลื่อนการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566–2570 ใน ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่อง การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาท้าทาย ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญในการขยายผลและต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากงานวิจัย สู่การออกแบบ กระบวนการเรียนรู้ (Learning and Innovation Platform; LIP) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับใช้นวัตกรรมพร้อมใช้ ตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่ สร้างโอกาสใหม่ให้แก่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลง

บันทึกข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 3 ปี โดยมีเป้าหมายหลักในการประยุกต์ใช้และขยายผล นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คนจนฐานราก, เกษตรกรรายย่อย, กลุ่มอาชีพ, ผู้ประกอบการในพื้นที่ ตลอดจนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ผ่านการสนับสนุนในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ที่เป็นนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยกำหนดเงื่อนไขการใช้สิทธิ์อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการผลิตและให้บริการ ทั้งในเชิงสาธารณประโยชน์และเชิงพาณิชย์
  2. พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมาย พร้อมประเมินขีดความสามารถของนวัตกรชุมชน
  3. ขยายผลนวัตกรรมสู่พื้นที่เป้าหมาย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) และกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชน
  4. สนับสนุนโครงการวิจัย ภายใต้กรอบ “การขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology)” เพื่อ ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
  5. สร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชน ผ่านแนวคิด Social Integrated Enterprise (SIE)
  6. พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการนวัตกรรมเพื่อสังคม (RinMP) เชื่อมโยงกับฐานข้อมูล Appropriate Technology Matching เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
  7. จัดกิจกรรมจับคู่ (Matching) นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้ตรงกับโจทย์ปัญหาในพื้นที่ และพัฒนาข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพ
  8. พัฒนากลไกถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน และสร้าง Ecosystem ที่สนับสนุนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม
  9. จัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ในมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการลงทุน และนำผลงานวิจัยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์

รายชื่อผู้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง

  1. ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา – ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
  2. รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ – อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
  3. รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร – อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
  4. ศ.ดร.สุวัจน์ ธัญรส – อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
  5. รศ.ดร.ประมุข อุณหเลขกะ – อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
  6. รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด – รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  7. รศ.ดร.อุเทน คำน่าน – รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  8. รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี – อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  9. รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ – อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
  10. ผศ.ดร.ปริญญ์ บุญกนิษฐ – รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ผู้แทน ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร)
Share us