ด้วยความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาที่แทรกซึมอยู่กับบริบทสังคมไทยเป็นเวลายาวนาน ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องใช้ระยะยาวและความเข้าใจ เข้าถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาความยากจนให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเชิงลึก รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงการขับเคลื่อนเชิงนโยบายของภาครัฐ ในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้เข้าร่วมตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการขจัดความยากจน โดยมอบนโยบายให้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กำหนดแผนงานวิจัย นวัตกรรมและองค์ความรู้ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม ได้จัดทำ “แผนงานการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” ขึ้น
ในปีงบประมาณ 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
จึงได้ให้ทุนกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เพื่อขับเคลื่อนแผนงานกรอบการวิจัย “เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างโอกาสทางสังคม (Appropriate Technology for Social Mobility)” ภายใต้แผนงานและนวัตกรรม “ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่มโอกาส ของการเข้าถึงพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ซึ่งกำหนดพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ SRA จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ลำปาง กาฬาสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี และยะลา เพื่อสร้างแพลตฟอร์มขจัดความยากจนของประเทศ (National Platform to End Poverty) สำหรับแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ประกอบด้วย ระบบค้นหา สอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจน เพิ่มโอกาสของการเข้าถึงพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้น ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้อย่างตรงจุดและเหมาะสมกับบริบทพื้นที่
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จึงได้เป็นแกนนำของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ออกแบบแผนงานวิจัย “การประยุกต์ใช้และขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างขีดความสามารถและโอกาสทางสังคม สำหรับคนจนเป้าหมายในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์” เพื่อนำไปใช้ในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ มีทักษะอาชีพ เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กลุ่มเป้าหมาย สามารถเพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการ เกษตรกร ช่วยยกระดับรายได้ให้เพิ่มขึ้นและยกระดับความเป็นอยู่กลุ่มเป้าหมาย ให้เข้าถึงโอกาสในการยกระดับฐานะทางสังคม ให้หลุดพ้นกับดักความยากจนอย่างยั่งยืน
ดังนั้นในการรวบรวมองค์ความรู้ นวัตกรรมพร้อมใช้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำเป็นต้องมีระบบฐานข้อมูลในการรวบรวม และออกแบบเป็นแหล่งที่สามารถเข้าถึงได้สะดวกทั้งเจ้าของผลงาน ผู้ที่ต้องการใช้งาน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง แพลตฟอร์มการบริหารจัดการนวัตกรรมเพื่อสังคมของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือ RMUT Innovation Management Platform; RinMP หรืออ่านว่า “รินมป์” เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนามาจากแพลตฟอร์มการบริหารจัดการชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
“รินมป์” หรืออ่านว่า “ริน” แปลความหมายได้ว่า คือการเทออก ปล่อยให้ไหลออกไปทีละน้อย และมีการระมัดระวังเพื่อให้ปลอดภัย หรือเกิดผลดีที่สุด ซึ่งมีความพ้องความหมายกับคำว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่ต้องการให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมีการรับ ปรับใช้ การยอมรับให้มากที่สุด ดังนั้น RinMP จึงเป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยสนับสนุนให้การบริหารจัดการนวัตกรรมเพื่อสังคม มีประสิทธิภาพมากขึ้น สะท้อนพันธกิจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ในการเป็นสถาบันที่มุ่งผลิตบัณฑิต นักปฎิบัติ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี