งานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่างไทย-สาธารณรัฐประชาชนชนจีน

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยกว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีน และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่างไทย-สาธารณรัฐประชาชนชนจีน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

ซึ่งทางเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล นำโดย ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย และดร.อนิวรรต หาสุข ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมเป็นผู้แทนเครือข่าย ๙ ราชมงคล นำทีมคณะวิจัยภายใต้แผนการประยุกต์ใช้และขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสมฯ ที่นำเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) ของ มทร.ทั้ง ๙ แห่ง ไปช่วยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ สร้างรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ของครัวเรือนคนจน ในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (SRA) ๗ จังหวัด เพื่อให้เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหายากจน เข้าร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยและเทคโนโลยีพร้อมใช้ รวมถึงกระบวนการจัดการงานวิจัย ของกรอบการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ระหว่างวันที่ 17-18 มกราคม 2567 ณ อาคารกิจการนักเรียน มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

โดยมีท่านฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริหาร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้เกียรติเป็นประธานในครั้งนี้ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งส่วนราชการ มหาวิทยาลัย ผู้แทนสถานทูตจีน และเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศ จาก 24 สถาบัน ทั้งนี้ทางเครือข่ายมทร. จากพื้นที่ภาคอีสาน นำโดยหัวหน้าโครงการวิจัยทั้ง ๓ จังหวัด ได้แก่ พื้นที่ SRA จังหวัดกาฬสินธุ์ โดย ดร.เครือวัลย์ มาลาศรี พื้นที่ SRA จังหวัดมุกดาหาร โดย ผศ.ดร.ไกรศรี ศรีทัพไทย และพื้นที่ SRA จังหวัดร้อยเอ็ด โดย ผช.สุบรรณ์ ทุมมา รวมถึงทีมวิจัย เป็นตัวแทนเข้าร่วมจัดนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย

ดังนั้น จากการขับเคลื่อนบนแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด สามารถสร้างกระบวนการค้นหาและสอบทานข้อมูล ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของกลไกภาคีความร่วมมือ เพื่อขจัดปัญหาความยากจนระดับจังหวัด และนำมาสู่การสร้างระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้าระดับจังหวัด ที่ครอบคลุมทุน 5 มิติ ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนเศรษฐกิจ ทุนธรรมชาติ ทุนกายภาพ และทุนสังคม ที่สามารถวิเคราะห์ให้เห็นขนาดปัญหาและฐานทุนครัวเรือนยากจน ระดับความยากจนครัวเรือน เพื่อช่วยออกแบบกลยุทธ์การแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานะความยากจนรายครัวเรือน จัดทำระบบส่งต่อความช่วยเหลือ สร้างโมเดลแก้จนระดับพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตคนจน กลุ่มเป้าหมายให้มีทักษะอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น และเชื่อมโยงงานวิจัยเข้าสู่แผนระดับจังหวัด และแผนท้องถิ่นต่อไป

Share us